“คำแนะนำ หรือจะเรียกว่าคำอ้อนวอนขอร้องก็ได้นะครับ ของผมก็คือ ทำให้น้อยแล้วถอยให้เร็ว ซึ่งหมายความว่า ขอให้ทำแต่เพียงสิ่งที่จำเป็น (ซึ่งท่านก็ประกาศว่าเป็นเจตนารมณ์อยู่แล้ว) แล้วก็คืนอำนาจให้กับคนที่ได้รับเลือกตั้งทำต่อไป ใช้เวลาให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ข้อเสนอของผมก็คือ ไหนๆ ท่านก็ยึดอำนาจถือรัฏฐาธิปัตย์ไม่ต้องทำตามรัฐธรรมนูญแล้ว (ทำให้มีความคล่องตัวไม่ต้องมีกฎรุ่มร่ามรัดตัวจนกระดิกไม่ออก) ก็ให้ท่านวางกรอบการปฏิรูปเสียเลย ตั้งคณะกรรมการที่ค่อนข้างเป็นที่ยอมรับมากำหนดหัวข้อที่จะปฏิรูป มากำหนดวิธีการปฏิรูป
ว่าจะมีกี่ด้าน ตั้งคณะอนุกรรมการวางแผนปฏิรูปด้านต่างๆ เช่น ด้านการเมือง ด้านการศึกษา ด้านการปราบคอร์รัปชั่น ฯลฯ ทั้งหมดนี้ แค่เพียงสามสี่เดือนก็น่าจะเสร็จ (ตั้งแค่กรอบ แค่วางหัวข้อ วิธีการ และคนที่จะมาศึกษาวางแผนนะครับ ไม่ใช่ปฏิรูปให้เสร็จ ที่ต้องใช้เวลานับสิบปี) ควบคู่กันไป ท่านก็เตรียมการเลือกตั้ง ไม่เกินห้าเดือนเราน่าจะเลือกตั้งได้ ในระหว่างนี้ ท่านจะรักษาการเอง หรือจะให้ข้าราชการประจำเขาทำงานให้ก็ได้ ใช้อำนาจเต็ม ทำงบประมาณชั่วคราว เอามาใช้ก่อน
อย่าให้เกิดสุญญากาศ หนี้ชาวนาใช้เขาไป เงินลงทุนที่จำเป็นก็เดินหน้าได้
ในขณะเดียวกัน ท่านก็ใช้อำนาจแก้รัฐธรรมนูญเท่าที่จำเป็น (โดยใช้ฉบับ 2540 หรือ 2550 เป็นหลักก็ได้) เช่น เรื่องที่จะต้องดำเนินการวางแผนตามกรอบปฏิรูป หรือท่านจะแก้บางเรื่องที่มีเหตุผลชัดบ้างก็ได้ อย่างการห้ามใช้ประชานิยมเกินขอบเขต อย่างกลไกการต้านโกง ฯลฯและท่านอาจใส่บทเฉพาะกาล เช่นว่า เมื่อแผนปฏิรูปเสร็จ(กำหนดให้ไม่เกิน 1 ปี) ต้องมีการขอประชามติแผน ไม่ว่าผ่านหรือไม่ ให้ยุบสภา เลือกตั้งใหม่ (ถ้าแผนผ่าน ใครเป็นรัฐบาล ก็ต้องทำตามแผน ถ้าไม่ผ่านก็แปลว่าประชาชนส่วนใหญ่เขาไม่ต้องการปฏิรูป ดื้อรั้นไปย่อมไม่ดีแน่)
นี่เป็นข้อเสนออ้อนวอน ผมไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญ ในรายละเอียดอาจมีปรับได้บ้าง แต่แนวหลักก็คือทำให้น้อยแล้วถอยให้เร็วนี่แหละครับ ที่ผมกลัวที่สุดก็คือ ท่านเกิดอยากบริหาร อยากทำการปฏิรูปเองให้เสร็จ หรือเกิดเชื่อว่าคณะบุคคลที่ท่านเลือก ท่านเห็นว่าเก่ง ว่าดี ว่าเป็นกลางเท่านั้น ที่จะบริหาร และปฏิรูปให้แล้วเสร็จได้ ก่อนที่จะคืนอำนาจประชาธิปไตยให้ประชาชน ซึ่งผมกล้าบอกได้เลยว่าอย่างนั้นสุ่มเสี่ยง ใช้เวลานาน และจะเกิดความขัดแย้งใหญ่หลวงตลอดทาง โอกาสเกิดสงครามกลางเมือง หรือสงครามกองโจรจากผู้ที่ไม่เห็นด้วยสูงมาก”
ข้างต้นเป็นตอนหนึ่งของบทความ “ประวัติศาสตร์จะบันทึกเกี่ยวกับการปฏิวัติรัฐประหารครั้งนี้ว่าอย่างไร (23 พ.ค. 2557)” เขียนโดย บรรยง พงษ์พานิช ประธานกรรมการบริษัทหลักทรัพย์ ภัทร ที่เผยแพร่ผ่านเฟซบุ๊ค “Banyong Pongpanich” เมื่อวันที่ 24 พ.ค. 2557 (และสำนักข่าว Thaipublica ในวันเดียวกัน) หรือ 2 วันหลัง “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาผู้บัญชาการทหารบก (ในขณะนั้น) ทำรัฐประหารในนามคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อช่วงเย็นวันที่ 22 พ.ค. 2557 ท่ามกลางความหวังว่าจะยุติยุคสมัยการเมืองขัดแย้งและมีการปฏิรูปประเทศ
แต่แล้ววันเวลาผ่านไปกว่า 6 ปี จากบิ๊กตู่ พล.อ.ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรีในรัฐบาลเผด็จการทหาร เป็น “ลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ นายกฯ ในรัฐบาลจากการเลือกตั้งซึ่งได้รับการเสนอชื่อโดย พรรคพลังประชารัฐ “ยิ่งอยู่นานเสียงสนับสนุนดูเหมือนจะแผ่วลง” เห็นได้จากการชุมนุม “ไล่ลุง” จากที่ก่อตัวกันแต่ในกลุ่มหน้าเดิมๆ (ที่ปัจจุบันบางคนก็กลายเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร-สส. ไปแล้ว) ขยายตัวมาในหมู่วัยรุ่นนักเรียน-นักศึกษา ที่เป็นฐานเสียงของพรรคการเมืองขวัญใจ
คนรุ่นใหม่ และปัจจุบันลามไปถึงคนระดับรากหญ้าทั้งในเมืองและชนบท
ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เขียนบทความ “เรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร?” เผยแพร่ผ่านเฟซบุ๊คส่วนตัวเมื่อค่ำวันที่ 18 ส.ค. 2563 ว่าด้วย 6 ปี ของประเทศไทยภายใต้การบริหารของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หากนับจากวันรัฐประหาร 22 พ.ค. 2557 พร้อมกับระบุไว้หลายสิ่งว่าหาก พล.อ.ประยุทธ์ ได้ทำดังนั้นแล้ว คงไม่เดินมาถึงจุดที่ถูกชุมนุมขับไล่ขนาดนี้
“ถ้าหากพลเอกประยุทธ์ได้บริหารบ้านเมืองโดยเอาประชาชนเป็นศูนย์กลางอย่างแท้จริง ถ้าหากทำให้คนรุ่นใหม่มองเห็นว่าอนาคตของตัวเองและของประเทศมีแสงสว่างอยู่ข้างหน้า ถ้าหากเน้นโครงการที่กระจายรายได้และทำให้ประชาชนยืนบนขาตนเองได้ดีขึ้น มีโอกาสเริ่มต้นที่เท่าเทียมมากขึ้น คงไม่มีการประท้วงหนักที่ลามปามออกไปมากเช่นนี้ แต่ที่ผ่านมา พลเอกประยุทธ์เองบริหารประเทศโดยไม่ใส่ใจการปรองดอง เน้นบทบาทเป็นนักการเมืองที่อาศัยการสร้างกติกาความได้เปรียบคู่ต่อสู้เป็นหลัก
เน้นการบริหารเศรษฐกิจที่สร้างโครงการใหญ่เพื่อรับใช้นายทุน แทนที่จะเปิดพื้นที่ให้ธุรกิจขนาดเล็กและขนาดจิ๋วอยู่ได้ ทำให้การกระจายรายได้เกิดน้อย ไม่ทำให้ประชาชนยืนบนขาของตนเอง คอยแต่รอรับเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลเป็นคราวๆ พลเอกประยุทธ์ยึดหลักศาสตร์ของพระราชาเพียงแต่ปาก เพียงแต่ใช้ไปตั้งชื่อรายการทีวี มิได้เอาประชาชนเป็นศูนย์กลางอย่างแท้จริง ด้วยเหตุนี้พลเอกประยุทธ์จึงทำให้ภาพพจน์ของรัฐบาลตนเองไม่สดใส ไม่มั่นใจ”
อีกด้านหนึ่ง เครือข่ายคนระดับฐานรากที่คุ้นหูคนไทยมาอย่างยาวนานหลายสิบปีอย่าง สมัชชาคนจน ออกแถลงการณ์เมื่อ 20 ส.ค. 2563 หลังผู้ประสานงานเครือข่าย บารมี ชัยรัตน์ ถูกจับกุมกรณีเข้าร่วมชุมนุมกับกลุ่มเยาวชนปลดแอก ประกาศพร้อมชุมนุมใหญ่แบบยืดเยื้อในกรุงเทพฯ หากไม่ปล่อยตัวตัวแทนกลุ่มรายนี้ สะท้อนความคับข้องคับใจได้ของคนระดับฐานราก ภายใต้ระยะเวลากว่า 6 ปี การปกครองของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ได้เป็นอย่างดี ดังนี้
“รัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา กดขี่ข่มเหงพี่น้องคนจนมาโดยตลอด เช่น ไล่รื้ออพยพคนจนออกจากที่ทำกิน แย่งชิงทรัพยากรดิน-น้ำ-ป่า เพื่อสร้างเขื่อน เพื่อทำเขตเศรษฐกิจพิเศษ และอื่นๆ ไม่เคยแก้ไขปัญหาของคนจนอย่างจริงใจ ผู้นำของเราถูกเจ้าหน้าที่รัฐติดตาม คุกคาม ข่มขู่ สกัดกั้นไม่ให้เรียกร้องความเป็นธรรมรวมถึงถูกกลั่นแกล้งทางกฎหมายต่างๆ นานา เพื่อสร้างภาระ และกีดกันการเข้าถึงความยุติธรรม”
สัปดาห์นี้ “ที่นี่แนวหน้า” นำ 2 บทความ จาก 2 ผู้เขียนและจาก 2 ช่วงเวลา พร้อมด้วยความรู้สึกทุกข์ร้อนของคนระดับฐานราก มานำเสนอกับท่านผู้อ่าน ซึ่งดูเหมือนจะเป็นไปตามที่บทความว่าไว้ โดยเฉพาะหลังมีข่าวจับกุมตัวแทนเครือข่ายต่างๆ ที่เข้าร่วมชุมนุมโดยไม่ได้แยกว่าคนคนนั้นปราศรัยประเด็นละเอียดอ่อนหรือไม่ หรือเป็นเพียงการวิพากษ์วิจารณ์ปัญหาการบริหารของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ นอกจากสมัชชาคนจนแล้ว เครือข่ายสลัม 4 ภาค ตลอดจนองค์กรภาคประชาสังคม (NGO) ด้านต่างๆ ประกาศจุดยืน “ไม่เอาแล้วรัฐบาลลุงตู่”กันอย่างพร้อมเพรียง
ย้อนมองจาก 6 ปีก่อนเทียบกับวันนี้..พันธมิตรของลุงตู่ดูจะมีน้อยลงไปทุกที!!!
August 22, 2020 at 02:00AM
https://ift.tt/34pVGTw
คอลัมน์การเมือง - วันนี้'ลุงตู่'ยังเหลือใครบ้าง? - หนังสือพิมพ์แนวหน้า
https://ift.tt/3h4AeY4
Bagikan Berita Ini
0 Response to "คอลัมน์การเมือง - วันนี้'ลุงตู่'ยังเหลือใครบ้าง? - หนังสือพิมพ์แนวหน้า"
Post a Comment